ชุมชนชาวอามิช (Amish)วิถีเศรษฐกิจพอเพียงแบบตะวันตกในขณะที่คนจำนวนมากพยายามแสวงหาความเจริญทางวัตถุ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในโลกยุคมิลเลนเนียม เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต
กลับมีชุมชนเล็ก ๆ อีกแห่งหนึ่งในโลกใบนี้ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตเฉกเช่นเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว
พวกเขาอยู่กันอย่างเรียบง่าย สบาย สงบ และกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ไม่คิดดิ้นรนจะหาวัตถุใด ๆ มาเติมเต็ม แต่ทุกย่างก้าวของชีวิตที่ดำเนินไปเปี่ยมไปด้วยความสุขที่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ ชุมชนชาวอามิช (Amish) ชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนผืนดินเมือง Gap รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขานับถือศาสนาคริสต์
นิกายอนาแบ๊ปติส (Anabaptists)ที่ยังเคร่งศาสนา จารีตประเพณีแบบดั้งเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อก้าวเข้ามาในชุมชนอามิชแห่งนี้
สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าจะไม่ต่างจากชุมชนเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว นั่นก็คือ ความเงียบสงบบนถนนสายเล็ก ๆ ที่สองข้างทางเพาะปลูกพืชและทำการปศุสัตว์ในแบบดั้งเดิม ขณะที่ชาวอามิชเองก็แต่งตัวเหมือนกับหนังฝรั่งสไตล์ย้อนยุค ขับขี่รถม้าวิ่งไปตามทางบนถนนชาวอามิชประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม คือ คนกลุ่มเก่า (Old Order) และคนกลุ่มใหม่ (New Order)โดยคนกลุ่มเก่าจะเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการใช้ไฟฟ้า ยังคงใช้ชีวิตเหมือนกับวิถีชีวิตดั้งเดิมทุกอย่าง และใช้รถม้าเป็นพาหนะเพียงเท่านั้นขณะที่คนกลุ่มใหม่ แม้จะมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเทคโนโลยี อย่างเช่น โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ตพวกเขาใช้ไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างภายในบ้าน ใช้เตาแก๊สในการหุงหาอาหาร และบางบ้านก็จะมีรถยนต์ขับแต่ยานพาหนะสำคัญก็ยังคงเป็นรถม้าอยู่ดีอย่างไรก็ตาม เพราะชาวอามิชเคร่งครัดในคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลที่ห้ามสร้างรูปจำลองเหมือนมนุษย์ทำให้พวกเขาไม่นิยมถ่ายรูปกันเอง และไม่ชอบให้คนภายนอกมาถ่ายรูปของพวกเขาด้วย แต่ชาวอามิชหลายคนที่เป็นคนหัวสมัยใหม่หน่อยก็ไม่ได้ยึดกฎข้อนี้มากนัก
บางคนก็ยืดหยุ่นให้ถ่ายรูปได้ แต่อาจถ่ายในระยะไกล หรือหากจะถ่ายโคลสอัพก็ต้องขออนุญาตเสียก่อน
หลายคนอาจจะมองว่า ชาวอามิชเป็นกลุ่มที่ต้านกระแสของโลก แต่พวกเขาก็ไม่ได้สนใจ ยังคงเลือกที่จะเดินไปในจังหวะนี้ไม่จำเป็นต้องจ้ำอ้าวไปตามโลกที่กำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งชาวอามิชก็มีความสุขที่อยู่ในวิถีชีวิตแบบนี้ เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้มันทำให้พวกเขารู้ว่าตัวเองแข็งแรงขึ้น และมั่นใจในตัวเองหากมองไปรอบ ๆ จะเห็นภาพของเด็ก ๆ ชาวอามิช ทั้งตัวเล็ก ตัวน้อย ช่วยพ่อแม่ทำเกษตรกรรม
ดูแล้วเป็นภาพความผูกพันของครอบครัวที่เหนียวแน่น และอาจจะเหนียวแน่นกว่าหลาย ๆ ครอบครัวในสังคมทุนนิยมที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กันเท่าไหร่นักคุณยายลิเดีย แลนซ์ ชาวอามิช เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่สอนให้เธอทำงานหนักมาตั้งแต่เล็ก ๆ แต่เวลาเล่น พวกเธอก็เล่นกันอย่างสนุกสนาน แม้เธอจะเคยคิดว่า
เราทำงานหนักเกินไปไหม แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มันก็ทำให้เธอรู้สึกดีใจที่พ่อแม่เลี้ยงมาแบบนี้ เพราะทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิตจากความเชื่อ ความรัก ความอบอุ่นที่ชาวอามิชแสดงให้เห็นอย่างจริงใจ รวมทั้งการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกคนในชุมชนที่มีปัญหา ไม่ต่างจาก”คนในครอบครัวเดียวกัน” “เราพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ รู้ไหม โลกภายนอกอาจมองเข้ามาแล้วพากันสงสารเรา ขณะเดียวกัน เราก็มองว่าคนในโลกข้างนอกนั่นแหละที่น่าสงสาร เรารู้ดีว่าชีวิตในโลกข้างนอกนั้นยากลำบากกว่าเรามากนัก แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าชีวิตของชาวอามิชโรยด้วยกลีบกุหลาบ
เรามีคนที่อยู่แบบนี้ไม่ได้ และลาออกไป บางทีก็มีเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรเกิดขึ้น แต่ชีวิตก็เป็นแบบนี้ การเป็นอามิชไม่ได้หมายความว่า เราดีกว่าใครหรือชีวิตแบบเราถูกต้องเสมอไป ไม่มีชีวิตใครสมบูรณ์แบบ เราเพียงแค่พยายามใช้ชีวิตให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้” คุณปู่ชาวอามิช กล่าวอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชาวอามิชกังวลก็คือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการไม่คุมกำเนิดที่ขัดต่อความเชื่อของเขา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนที่ดินตามมา
ดังนั้น ชาวอามิชรุ่นหลัง ๆ จึงเริ่มออกไปทำงานในเมืองมากขึ้น นี่อาจเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ระบบวิถีชีวิตของชาวอามิชค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยซึ่งชาวอามิชหลายคนคงไม่อยากให้มันเกิดขึ้นการเยือนชุมชนอามิชครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นมุมมองบางอย่างที่ชาวอามิชต้องการสอนให้คนภายนอกได้เข้าใจอย่างเช่นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ชัดเจนก็คือ บางทีการมีชีวิตที่ดีอาจไม่ได้หมายถึงเราต้องมีทุกอย่างที่เราอยากได้ แต่มันอาจคือการที่ไม่มีบางอย่างที่ไม่จำเป็นเพื่อที่จะได้ใช้เวลากับสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อชีวิตเราจริง ๆ ก็เป็นได้
ธนะรัตน์ ทับทิมไทย เรียบเรียงข้อมูลจากกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการพื้นที่ชีวิต สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส