ทองกวาว

      Comments Off on ทองกวาว

ทองกวาว

ชื่ออื่น          กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ) จอมทอง (ภาคใต้), จ้า ( เขมร) ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง)

ชื่อสามัญ         Flame of the forest, Bastard Teak, Bengal kinotree, Kino tree

ชื่อวิทยาศาสตร์         Butea monosperma

ชื่อวงศ์               LEGUMINOSAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ทองกวาวเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8 – 20 เมตร เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ทรงพุ่มทึบปานกลาง ผลัดใบ เจริญเติบโตช้ามากเนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง เวลาออกดอกใบจะร่วงหมด ดอกสะพรั่งเต็มต้น เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งทนลมและสภาพดินเค็ม ถ้าปลูกในที่ชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำจะไม่ค่อยออกดอก ปลูกจากเมล็ดจะออกดอกเมื่อมีอายุ 8 – 10 ปี โคนลำต้นมีลักษณะเป็นพูพอนเล็กน้อย ลำต้นมักจะบิดงอไม่ตั้งตรง กิ่งก้านจะแตกออกไม่เป็นระเบียบบิดโค้งและห้อยย้อยลงมา ลำต้นเมื่อมีอายุมาก ๆ มักจะเป็นโพรงกลวง  เปลือก สีเทาคล้ำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ทั้งตามทางยาวและตามขวาง เมื่อแก่มีสีเทาคล้ำ จากนั้นจะแตกเป็นสะเก็ดหลุดลอกออก และเปลือกใหม่จะขึ้นมาแทนที่

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก มี 3 ใบย่อยคล้ายใบถั่ว ออกสลับ ก้านใบ ยาว 25 – 30 เซนติเมตร โคนก้านใบบวม ใบยอดรูปไข่กลับปลายมน โคนสอบ ส่วนอีก 2 ใบ ออกตรงกันข้ามรูปไข่ค่อนข้างกว้างโคนใบเบี้ยว เส้นกลางใบนูนชัดเจน ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 10 – 18 เซนติเมตร ยาว 15 – 20 เซนติเมตร

ดอก มีสีเหลืองแสดหรือสีส้ม ดอกเดี่ยว คล้ายดอกถั่ว หรือดอกทองหลาง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันมีขนสีน้ำตาลเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ ยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายแหลมมน โค้งบิดงอ มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ยาว 6 – 8 เซนติเมตร โค้งบิดงอเช่นเดียวกับกลีบดอก ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง จะออกดอกในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน

ผล เป็นฝักแห้ง สีน้ำตาลอมเหลือง มีขนนุ่ม รูปขอบขนาน แบนบาง สันหนา โค้งงอเล็กน้อย กว้าง 3 – 4 เซนติเมตร ยาว 12 – 15 เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่ภายใน เมล็ด ติดอยู่ที่ปลายฝัก รูปร่างเป็นแผ่นแบนบาง สีน้ำตาลคล้ายรูปไต กว้าง 1.0-1.2 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.0 เซนติเมตร ฝักหนึ่งมีเมล็ด 1 – 2 เมล็ด