ลิ้นจี่
ชื่อสามัญ Litchi
ชื่อวิทยาศาสตร์ Litchi chinensis
ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น สูงได้ถึง 35 เมตร เรือนยอดกลม เปลือกค่อนข้างเรียบ สีเทา มีรูระบายอากาศ (lenticel) ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 1-4 คู่ เรียงตรงข้าม-เยื้อง-สลับ ใบย่อยรูปวงรีหรือ รูปไข่กลับ ขนาดประมาณ 2-4 x 8-11 เซนติเมตร ปลายใบมน-แหลม โคนใบแหลมหรือสอบ ขอบใบ เรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ดอก ช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็กมาก กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล ผลสดรูปทรงกลม-รูปไข่ ผิวขรุขระ ผลสุกมีสีแดงสด เนื้อขาวฉ่ำน้ำ เมล็ดเดี่ยว กลม-รูปไข่ สีน้ำตาลเข้มถึงเกือบดำ ผิวมัน ออกดอก ออกผล ผลแก่ประมาณเดือนเมษายน นิเวศวิทยา/ การกระจาย พบขึ้นตามริมน้ำ ในป่าดิบทางภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย กระจายอยู่ในประเทศจีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย ประโยชน์ เนื้อลิ้นจี่ ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน เหล็ก วิตามินบี๑ วิตามินบี๒ และมี วิตามินซีสูง ป้องกันโรคหวัด และโรคเลือดออกตามไรฟัน มีแคลเซียมและ ฟอสฟอรัสช่วยบำรุงกระดูก และฟัน