มะม่วง
ชื่อสามัญ Mango.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica L.
ชื่อวงศ์ ANACARDIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น: ไม้ต้น ลำต้นตรง สูงประมาณ 10 – 14 เมตร เปลือกของลำต้นแข็ง เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ใบ: ใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ใบอ่อนมักมีสีออกแดง เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมัน ก้านใบยาว 1-10 เซนติเมตร แผ่นใบยาว 8-40 เซนติเมตร กว้าง 2-10 เซนติเมตร ใบมีรูปร่างแบบรูปโล่ รูปหอก รูปไข่ และเรียวยาว ฐานใบ รูปลิ่มแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบมักจะเป็นคลื่น
ดอก: ดอกช่อ มีกลิ่นหอม ดอกมีหลายสีแตกต่างกัน เช่น สีแดง ชมพู หรือขาว กลีบเลี้ยงมักมี 5 กลีบแยกกัน สีเขียวอมเหลือง กลีบดอกมักมี 5 กลีบ กลีบดอกยาวเป็น 2 เท่าของกลีบเลี้ยง มีสีเหลือง เมื่อแก่กลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู เกสรเพศผู้ 5 อัน ในดอกเพศผู้เกสรเพศเมียจะฝ่อไป ส่วนในดอกสมบูรณ์เพศจะมีรังไข่ 1 ช่อง รูปร่างเบี้ยวไม่มีก้าน ไข่มีจำนวน 1 ฟอง
ผล: รูปร่างของผลมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว ผลมักจะแบนด้านข้าง เมื่อสุกจะมีสีเหลือง ส้ม แดง มี 1 เมล็ด เปลือกแข็ง
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ ขึ้นในเขตร้อน พบกระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย
การใช้ประโยชน์ ผลมะม่วงนำมารับประทานได้ทั้งดิบและสุก เนื้อไม้นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ ยอดอ่อน ผลอ่อนนำมาประกอบอาหารแทนผัก ผลมะม่วงดิบมีวิตามินซีสูง แก้เลือดออกตามไรฟัน