สำโรง

      Comments Off on สำโรง

สำโรง

 ชื่ออื่น                โหมโรง (ภาคใต้), มะโรง มะโหรง (ปัตตานี), จำมะโฮง (เชียงใหม่)

 ชื่อสามัญ           Bastard poom, Pinari

 ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia foetida L.

 ชื่อวงศ์                 STERCULIACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

ใบสำโรง ใบเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน ออกเรียงเวียนสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยง หลังใบเรียบ และท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบข้างละ 17-21 เส้น ส่วนก้านใบร่วมยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร
ดอกสำโรง ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีแดงเข้ม ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีแสด ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบม้วนออก และมีขนละเอียดปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่จะงอลงด้านล่าง และมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 12-14 อัน ก้านเกสรมีขนาดสั้นมากจนเกือบมองไม่เห็น อยู่ติดกับรังไข่ ดอกมีกลิ่นเหม็นมาก จึงไม่ควรนำมาปลูกบริเวณใกล้ที่พักอาศัย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และช่อดอกจะออกไล่เลี่ยกับการผลิใบอ่อน

ผลสำโรง ขั้วผลติดกันเป็นกระจุก 4-5 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปไต ปลายผลมีติ่งแหลมออกเป็นพวงห้อยย้อยลงมา ผิวผลเรียบแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง หรือสีแดงปนน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 6-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร พอแห้งแล้วจะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีกตามร่องประสาน เปลือกผลแห้งจะแข็งเหมือนไม้และมีสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมรีสีดำ เนื้อในเมล็ดเป็นสีขาว เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 1.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยผลหนึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 12-13 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน