ประวัติงานทิ้งกระจาดในจังหวัดสุพรรณบุรี

      Comments Off on ประวัติงานทิ้งกระจาดในจังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติงานทิ้งกระจาดในสุพรรณบุรี

ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยามีคนจีนอยู่ในเมืองถึงหนึ่งในสามส่วน สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตาก มีทหารเอกชาวจีน ร่วมรบและช่างจีนเมืองจันทบุรีต่อเรือรบกู้ชาติ สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 คนจีนเริ่มเดินทางเข้าสู่เมืองสุพรรณ ผสมกับชาติพันธุ์พื้นถิ่นและเชลยศึกจากประเทศลาว
ย้อนไป 50 ปีก่อน งานทิ้งกระจาดสุพรรณบุรี มีความยิ่งใหญ่ เหมือนกับงานประจำปี วัดป่าเลไลยก์ งานทิ้งกระจาด ของสุพรรณบุรี มีขึ้นประมาณปี พ.ศ.2480 โดยชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสุพรรณบุรี ยุคแรกๆ ก่อนหน้านั้น ยังไม่มีศาลเจ้าเป็นของตนเอง ยังอยู่ในการก่อร่างสร้างตัว สมัยรัชกาลที่ 3 คนจีนเริ่มเข้ามาในสุพรรณ ส่วนมากเป็นจีนแต้จิ๋ว จีนอื่นก็มี แต่น้อยกว่า แต่ก็ถือเป็นเครือญาติชนชาติเดียวกัน ชาวจีน ยุคแรก เมื่อมาถึงสุพรรณ ยังไม่ได้สร้างศาลเจ้า โรงเจ เห็นเจ้าพ่อหลักเมืองของสุพรรณบุรี(ที่มาจากศาสนาฮินดู) ที่คนท้องถิ่นนับถือ
จึงถือเอาเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพนับถือ เมื่อทำสิ่งใดสำเร็จ สมประสงค์ ก็ยิ่งนับถือมากขึ้น
จนในที่สุดมีการจัดการโดยคนจีน (ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์เรื่องสุพรรณบุรี) จนในที่สุดก็ตั้งกรรมการดูแลศาลหลักเมือง คนจีนเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมแข็ง เมื่อตั้งหลักได้จึงสร้าง โรงเจโรงแรก ขึ้นที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในรูปแบบฮินดู(ขึ้นทะเบียนแล้วจากกรมศิลปกร 2478) คนจีนได้ดูแลครอบครองทั้งหมดได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ สถาปัตยกรรม ฮินดูและไทยพื้นถิ่น
กลายเป็นสถาปัตยกรรมจีน ดังนั้นงานทิ้งกระจาดของสุพรรณ จึงต้องมีการแห่เจ้าพ่อหลักเมือง ที่เป็นฮินดู
(เพราะคนจีนยุคแรก ได้ยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจ สมัยเริ่มมาบุกเบิกเมืองสุพรรณ)
วิถีคิดงานทิ้งกระจาดนั้น ถือเป็นการทำบุญ ให้กับผี ในแบบพุทธประวัติแบบมหายานผสมเต๋าที่ลงตัว ของชาวจีน ที่ล่องเรือมาจากเมืองจีน ต้องล้มตายด้วยความเจ็บไข้ เรืออับปาง เมื่อตั้งหลักได้ ได้ก็สร้างศาลเจ้า โรงเจ
งานทิ้งกระจาด คือการทำบุญอุทิศให้แก่บรรพชนร่วมชาติ ผีไม่มีญาติ คำว่าทิ้งกระจาดนั้น คือ ทิ้งสิ่งของให้คนมาร่วมงาน แต่ของบางอย่าง ไม่เหมาะสม จึงต้อง “ใส่กระจาด” จึงเรียกว่า “งานทิ้งกระจาด” และได้พัฒนาเป็นไม้ ติ้ว ไปแลกเอาของในภายหลังเพื่อความสะดวก และมีร้านค้าออกงานเต็มพื้นที่ แต่สถานทีจัดงานหน้าสมาคมชาวจีน (ตงฮั้วฮ่วยก้วง) ตรงข้ามสมาคม มีการแสดงงิ้ว,มหรสพต่างๆ
13

ตำนานในศาสนาของมหายานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า

เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณ ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการสร้างความเอื้ออาทรต่อกันในชุมชน งานทิ้งกระจาด เป็นประเพณีของพุทธศาสนาทางฝ่ายมหายาน เป็นการจำเริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว  ตำนานในพระสูตรกล่าวว่าสมัยหนึ่งพระอานนท์กำลังบำเพ็ญสมาธิปรเวกธรรมอยู่ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัศดุ์ มีอสุรกายตนหนึ่งสำแดงร่างเป็นเปรต รูปร่างสูงผอม มีแต่หนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม เมื่อหิวก็เปิดเปลวไฟออกจากปาก เปรตนั้นกล่าวกับพระอานนท์ว่า อีกสามวันพระพุทธเจ้าถึงจะมรณภาพ
พระอานนท์ถามว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร เปรตก็กราบทูลว่าต้องทำพิธีอุทิศเครื่องอุปโภคเป็นทานแก่ฝูงเปรตทั้งปวงจึงจะรอดและมีอายุมั่นขวัญยืนด้วยพระอานนท์จึงเข้ากราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงทรงโปรดให้ประกอบเมตตาธรรมตาม(ทั้งฆราวาสและสงฆ์)ที่พระอานนท์กราบทูล

1

ตำนานจีนโบราณที่เกี่ยวข้องกับอรหันต์จี้กง(เทพเจ้าจี้กง)

ประเพณีทิ้งกระจาดของชาวจีน ว่าสืบเนื่องมาจากมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชายซึ่งต่อมาบวชเป็นพระและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีนามว่า พระอรหันต์ “มู้เหลี่ยง” (หรือ หมกเลี้ยง) บิดาของท่านเป็นผู้ที่ชอบปฏิบัติธรรม มีใจเป็นกุศล ชอบทำบุญทำทาน และเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ แต่ทว่ามารดาของท่านกลับตรงข้าม ไม่ชอบเรื่องเหล่านี้ และไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ เมื่อบิดาของท่านถึงแก่กรรมลง พระมู้เหลี่ยงก็จัดพิธีงานศพ
ตลอดจนพิธีกงเต็กให้บิดา โดยท่านนิมนต์พระคณาจารย์จีน ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ฉันแต่อาหารเจ ในขณะเดียวกัน เทพจี้กง จำพรรษาอยู่ในวัดที่พระมู้เหลี่ยงไปนิมนต์มา ในพิธีงานศพของบิดา ครั้นก่อนถึงวันที่จะทำพิธีกงเต็ก คืนนั้นเทพเจ้าจี้กงเตือนให้พระที่ได้รับกิจนิมนต์ว่า ในพิธีกงเต็กที่ได้รับนิมนต์จะพบกับ คนใจดำอำมหิต เป็นมารจะมากลั่นแกล้งพระที่ได้รับนิมนต์ไปในงานนี้ ให้ระวังให้ดี พระที่ได้รับนิมนต์ไปเรียนถามว่า จะมีวิธีป้องกันอย่างไร เทพจี้กง แนะนำว่า สิ่งที่มองไม่เห็น อย่าได้ฉัน ให้ฉันแต่สิ่งที่มองเห็นก็พอ ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันทำพิธีกงเต็ก มารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยง ต้องการแกล้งพระ และต้องการทดสอบปฏิปทาของพระไปในตัว เพราะตลอดเวลาตนก็ไม่มีใจศรัทธาอยู่แล้ว จึงสั่งให้คนครัวนำเอาสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปฆ่า แล้วนำเนื้อสุนัขมาหมักรวมกับต้นหอม ผักชี และ กระเทียม แล้วนำมาทำเป็นไส้ซาลาเปา พอถึงเวลาฉันเพล จึงให้คนนำซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข
ที่ทำไว้ออกมาถวายพระ เมื่อพระที่ได้รับนิมนต์เหล่านั้นเห็น ซาลาเปา ทุกรูปก็จำคำเตือน ของเทพจี้กง จึงหยิบซาลาเปาแล้วซ่อนไว้โดยไม่ยอมฉัน พอได้เวลาพักผ่อนพระได้ชมบ้าน และสวนดอกไม้ทางหลังบ้านของเศรษฐี ในขณะที่ชมสวนอยู่นั้น พระท่านนำเอาซาลาเปาไส้เนื้อสุนัข ที่ซ่อนไว้ออกมาหักดู ก็เห็นไส้ซาลาเปามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ จึงโยนทิ้งลงใน บริเวณสวนดอกไม้นั้น ทันใดก็เกิดอาเพศ ฝนฟ้าคะนอง และตกลงมาอย่างหนัก หลังจากที่พระทำพิธีกงเต็กเสร็จแล้ว มารดาของพระมู้เหลี่ยงจึงถามพระที่ทำพิธีว่า ต้องการฉันอาหารเนื้อสัตว์อะไร
(หมู เห็ด เป็ด ไก่) ตนจะได้จัดถวายให้ พระท่านบอกว่า โยม อาตมาฉันแต่อาหารเจไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ มารดาของพระมู้เหลี่ยงได้ยินดังนั้นก็หัวเราะเยาะเย้ยหยัน พร้อมกล่าวว่า “ซาลาเปาที่ท่านฉันตอนเพลนั้น มันเป็นไส้เนื้อสุนัข
ท่านฉันแล้วไม่รู้หรือว่ามีเนื้อสัตว์ผสมอยู่ ไม่เห็นท่านว่ากล่าวอะไรออกมาเลย” เมื่อได้ฟังดังนั้นพระก็บอกว่า โยม อาตมาไม่ได้ฉันซาลาเปานั้นเลย ตามอาตมาไปที่สวนหลังบ้านดูสิ เมื่อมารดาของพระอรหันต์มู้เหลี่ยงไปถึง ก็เห็น ต้นหอม ต้นผักชี และ ต้นกระเทียม งอกขึ้นมาในสวน เป็นที่แปลกและอัศจรรย์ใจมาก จึงเกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็น บาปอันมหันต์ และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อถึง เทศกาลกินเจเดือนเก้าชาวจีนนอกจากจะไม่รับประทาน เนื้อสัตว์แล้ว ยังไม่รับประทานผัก 3 ชนิดนี้ด้วย ต่อมามารดาของพระมู้เหลี่ยงถึงแก่กรรม ขณะเดียวกัน
พระลูกชายก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ลงไปท่องเที่ยว ยังเมืองนรก ได้พบกับวิญญาณของมารดาซึ่งถูกล่ามโซ่ตรวนไว้ และกำลังจะถูกนำไปเกิดใหม่ พระอรหันต์มู้เหลี่ยง ได้ถาม ท้าวเวสสุวรรณ ว่า จะนำวิญญาณดวงนี้ไปไหน ?
ท้าวเวสสุวรรณ ตอบว่า จะนำไปเกิดเป็น สุนัข เพราะตอนมี ชีวิตอยู่ทำบาปไว้มาก เคยสั่งให้คนฆ่าสุนัข แล้วนำมาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ พระอรหันต์มู้เหลี่ยงมีความกตัญญูต่อมารดามาก คิดที่จะช่วยมารดา
จึงกล่าวขอท้าวเวสสุวรณไว้ ท้าวเวสสุวรรณก็ไม่ยอม เพราะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม กฎแห่งกรรม ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำให้เกิดการประลองฝีมือกัน โดยในพิธีนี้จัดให้มีการสวดพระคาถา
และบริจาคสิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ เช่น หับ เสื้อผ้า ภูเขาเงิน ภูเขาทอง เป็นต้น โดยกำหนดให้เริ่มพิธี
ตั้งแต่ วันที่ 1 เดือน 7 ถึงวันที่ 30 เดือน 7 ของจีน (ชิกหง้วย)
เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อให้ดวงวิญญาณที่อยู่ในนรกออกมารับกุศลผลบุญ ต่างๆ
และเป็นอานิสงส์ส่งไปเกิดในภพต่อไป

ประวัติงานทิ้งกระจาดในสุพรรณบุรี เรียบเรียงจากบทความ
อาจารย์ถนัด ยันต์ทอง
3 สิงหาคม 2559
เว็บ www.welovesuphan.com
เรียบเรียง
ธนะรัตน์ ทับทิมไทย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์